พระเจ้าองค์นี้... ของใคร?

สำเนาข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2543
http://www.bangkokbiznews.com/2000/08/10/jud/jud1001/jud1001.html


ประติมากรรมนี้... ของใคร ?


ประติมากรรมชุดสำคัญ เมื่อครั้งยังสมบูรณ์แบบ

เสียงเล็กๆ ของศิษย์เก่าอัสสัมชัญ ที่ออกมาท้วงติง โครงการรื้อถอน ประติมากรรมปูนปั้น รูปพระเยซู ฝีมือ ศ.ศิลป์ พีระศรี ภายในหอประชุมใหญ่ ของโรงเรียน ในแง่การอนุรักษ์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และนัยแห่งศรัทธา ส่อสะท้อนถึงความหาญกล้า ที่ผู้ใหญ่หลายคนต้องฟัง ยุวดี มณีกุล มีรายงาน

จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้ เรียนคำครูคำพระเจ้าเฝ้าขยัน

จะอุดมสมบัติปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม

บทกลอนของ เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ อดีตอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่จารึกอยู่บริเวณฐานประติมากรรม จำหลักนูนสูง รูปพระเยซูคริสต์และนักบุญทั้งหลาย ภายในหอประชุมโรงเรียน เป็นเครื่องรำลึกอันทรงคุณค่า สำหรับอัสสัมชนิก หรือศิษย์เก่าอัสสัมชัญทุกรุ่น แต่แล้วเมื่อทางโรงเรียน มีความจำเป็นต้องรื้อถอนอาคาร เพื่อสร้างอาคารหอประชุมอเนก ประสงค์ขึ้นใหม่ ประติมากรรมดังกล่าว จึงต้องถูกโยกย้ายออกจาก ที่ตั้งเดิม จากเคยอยู่บนตำแหน่งสูง เหนือเวทีต้องตามลักษณะตัวอาคาร และให้ผลในแง่จิตวิทยา ความศรัทธายามเพ่งมอง บัดนี้ได้ถูกรื้อถอนลงมา กองกับพื้นห้องชั่วคราว

เป็นที่มาของคำถามจากคนเล็กๆ ซึ่งเริ่มมีผู้ร่วมตั้งกระทู้มากขึ้นทุกขณะ

นศ.โบราณฯ เปิดปูม

รูปปั้นนี้มีความหมาย

"ผมเข้าเรียนอัสสัมฯ ตั้งแต่ ป.1 จนจบ ม.6 ทั้งหมด 12 ปี ได้เห็นรูปปั้นที่พวกเราเรียกกันว่าทับหลังมาตลอด รู้สึกผูกพันเพราะมีคำสอนของบราเธอร์ฮีแลร์อยู่ ตอนนั้นยังไม่รู้ประวัติความเป็นมาว่าใครสร้างบ้าง พอวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมาทางโรงเรียนจัดงานอำลาตึก มีการจัดนิทรรศการ ครูบาอาจารย์ให้มาช่วย ผมก็เริ่มค้นคว้าหาหนังสือมาอ่าน เพราะผมเรียนทางโบราณคดี ก็เลยได้รู้ว่ารูปปั้นนี้เป็นผลงานการออกแบบของอาจารย์ศิลป์ และท่านก็ลงมือปั้นเองด้วยในรูปหลัก คือ พระเยซู แล้วยังมีลูกศิษย์อีกสามท่านร่วมปั้นรูปอื่นๆ"

วีรศักดิ์ เกิดดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร บอกเล่าอย่างกระตือรือร้นพร้อมแสดงหลักฐานจากหนังสือเล่มต่างๆ ส่วนประติมากรอีกสามคนนั้น ได้แก่ อ.สิทธิเดช แสงหิรัญ อ.แสวง สมมั่งมี และอ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ทุกคนล้วนเป็นปรมาจารย์ด้านประติมา-กรรมไทยยุคเริ่มแรกทั้งสิ้น

สิ่งเร้าความสนใจใคร่รู้ของนักเรียนโบราณ คดีผู้นี้ต่อไปก็คือ เหตุใดจึงปรากฏผลงานของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ในหน่วยงานเอกชน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผลงานส่วนใหญ่ของ "อาจารย์ฝรั่ง" ทำให้กับทางราชการแทบทั้งสิ้น

จากสมมติฐานเบื้องต้นของ วีรศักดิ์ อาจเป็นไปได้ว่าพระยาอนุมานราชธน ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรในยุคนั้น ทั้งเป็นอัสสัมชนิกอาวุโสได้มาขอให้ ศ.ศิลป์ สร้างงานชิ้นนี้เพื่อเป็นของขวัญวันเปิดอาคารหอประชุม หรืออีกทางหนึ่งผู้บริหารโรงเรียนสมัยนั้นอาจขอต่อ ศ.ศิลป์ โดยตรง เพราะเป็นชาวต่างชาติด้วยกัน ไม่เพียงเท่านั้น หนุ่มไฟแรงยังสอบค้นจนพบ นายแบบรูปพระเยซู" คือ อ.ชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ ปี 2539 อีกด้วย โดย ศ.ศิลป์ ทำงานปั้นในโรงไม้ใกล้ห้องทำงานภายในบริเวณมหาวิทยาลัยนั่นเอง

"ผมถามไปทาง ผอ.ว่าจะทำอย่างไรกับรูปปั้นนี้ ท่านบอกว่าให้คนมาทำแล้วเป็นข้าราชการกรมศิลป์ แต่ไม่ได้ทำในนามกรมศิลป์ เป็นการรับงานส่วนตัว แต่ผมคิดว่างานระดับนี้น่าจะเป็นมหาวิทยาลัย หรือกรมศิลปากร เข้ามาดูแล เพราะผลงานที่ออกมาต้องดีสมคุณค่าของมัน ปรากฏที่ผ่านมามีการตัดแขนรูปปั้นเขาอ้างว่าเป็นวิธีการของช่าง ตัดเพื่อทำแบบ ผมอยากถามว่าถ้าจะอนุรักษ์ควรมีวิธีการที่ดีกว่านี้ไหม เราจำเป็นต้องหาข้อสรุปที่ดีที่สุด แม้แต่ครูหลายท่านขึ้นมาดูก็ยังตกใจ รู้สึกว่าทางโรงเรียนให้สิทธิกับช่างหมดเลย คือ ไม่ได้ไปตรวจสอบเป็นขั้นตอน" วีรศักดิ์ พรั่งพรูความรู้สึก และฝากถามต่อว่า

"โรงเรียนที่เป็นคาทอลิกทำการตัดรูปพระเยซู ทำไมไม่มีใครขึ้นมาดูแลเลย"

หลังจากนั้น วีรศักดิ์ ได้หารือกับทางพิพิธภัณฑ-สถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และทำหนังสือแจ้งต่ออธิบดีกรมศิลปากร

ชุลีรัตน์ โสมะบุตร หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ เดินทางไปดูรูปปั้นขณะถูกรื้อถอนทำพิมพ์ จากนั้นรีบทำหนังสือลงวันที่ 12 ก.ค.2543 ถึงผู้บริหารโรงเรียนแสดงความจำนงในการจัดส่งช่างประติมากรรมปูนปั้นเข้าร่วมดำเนินการถอดถอนและเสนอซ่อมแซมรูปปั้นนี้ และนำมาจัดแสดงชั่วคราวที่หอประติมากรรมภายในกรมศิลปากร จนกว่าการสร้างอาคารใหม่จะแล้วเสร็จ ทางโรงเรียนโดย ภราดาสุรสิทธิ์ สุขชัย ผู้อำนวยการ ส่งหนังสือตอบกลับในอีก 1 สัปดาห์ ชี้แจงว่า ตั้งใจนำประติมากรรมนี้มาประดับในอาคารหลังใหม่ และมีผู้เชี่ยวชาญงานประติมากรรมดำเนินการอยู่แล้ว ชื่อมานพ อมรวุฒิโรจน์ ทั้งยินดีให้ทางพิพิธภัณฑ์ ยืมประติมากรรมไปจัดแสดงโดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขนย้ายทั้งหมด รวมถึงดูแลความปลอดภัยมิให้เกิดความชำรุด

ต่อเมื่อมีการรื้อถอนประติมากรรมทุกชิ้นส่วนลงมาจากผนังแล้ว หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ จึงมีหนังสือยกเลิกการขอยืมจัดแสดงในที่สุดด้วยเหตุผลว่าการรื้อถอนแบบตัดชิ้นส่วนลงมาประกอบใหม่นั้นไม่เหมาะสม

วีรศักดิ์ เล่าว่า อธิบดีกรมศิลปากรได้โทรศัพท์กำชับให้ผู้รับเหมารื้อถอนรูปปั้นให้ระมัดระวัง โดยให้ทำงานในขั้นแกะแบบพิมพ์จนเสร็จ จากนั้นกรมศิลป์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมถอดถอนจากผนังเอง แต่ผู้รับเหมากลับดำเนินการถอดถอนไปเรียบร้อยตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม

"ผมเห็นแล้วสลดใจว่าทำไมไม่มีวิธีการทำที่ดีกว่านี้"

กล่าวสำหรับอาคารสุวรรณสมโภช หรือหอประชุมหลังนี้ ตั้งเมื่อ พ.ศ.2492 ในวาระครบรอบ 50 ปี ที่คณะเซนต์คาเบรียลเข้ามาในประเทศไทย และถูกทุบทิ้งในปี พ.ศ.2543

ผู้รับเหมาแจง

ทำดีที่สุดแล้ว

การออกแบบก่อสร้างอาคารใหม่นั้น ทางโรงเรียนมอบหมายให้ อ.อัชชพล ดุสิตนานนท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เป็นผู้รับผิดชอบ จากนั้นนักวิชาการผู้นี้ได้โอนงานรื้อถอนศิลปวัตถุสำคัญให้กับข้าราชการกรมศิลปากร ในลักษณะรับงานส่วนตัวนอกเหนือเวลาราชการ

นักวิชาการในฐานะผู้รับเหมา กล่าวว่า เบื้องต้นทางโรงเรียนให้ตนรับหน้าที่รื้อถอนรูปปั้นเอง แต่เนื่องจากตนเห็นคุณค่างานศิลปะชิ้นดังกล่าวจึงได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญมารับงานต่อ

"ผมรู้คุณค่าของรูปปั้นนี้ดี ตอนแรกทางโรงเรียนจะให้ผมรื้อถอนรูปปั้นนี้เลย แต่เพราะผมรู้คุณค่าผมจึงไปหาช่างหลวงของกรมศิลปากร คือ อาจารย์มานพ ให้มาช่วย คือ พยายามหาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมือ 1 มาทำ เนื่องจากเป็นสมบัติของเอกชนเราเลยว่าจ้างเป็นแบบโอเวอร์ไทม์ ทีนี้พิจารณาแล้วตอนอาจารย์ศิลป์ทำท่านก็แบ่งเป็นส่วนๆ แล้วเอาไปต่อข้างบน เราก็เฉือนตามรอยเดิม ผมก็ได้ชี้แจงกระบวนการนี้ไปแล้ว" อ.อัชชพล ให้คะแนนการทำงานของคณะตนว่าประสบความสำเร็จ

"ผมบอกได้ว่าเราประสบความสำเร็จในการนำลงมาโดยไม่แตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เราทำดีที่สุดแล้ว แต่ตอนนี้คงห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาบันทึกภาพ เราขอเวลาอีกไม่เกิน 6 เดือนถึงจะตกแต่งสมบูรณ์ตอนนั้นถึงเปิดให้ดูได้"

"เรารู้ดีว่ารูปปั้นนี้เสียหายไม่ได้ ศิษย์เก่าอัสสัมชัญเล่นงานแย่ ผมเองก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ ผมว่าศิษย์เก่าอัสสัมชัญรักงานชิ้นนี้มากกว่าบรรดาศิษย์เก่าอาจารย์ศิลป์ เพราะมีคำจารึกคำสอนอยู่ใต้รูปปั้น ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าเป็นผลงานอาจารย์ศิลป์อย่างเดียว มันมีความหมายกว่านั้น เราใช้งบประมาณ 1 แสนบาทสำหรับระวังความปลอดภัยโดยเฉพาะ ที่มาร้องแรกแหกกระเชอก็รู้ว่าหวังดีหวงแหน ผมขอบคุณผู้รู้ทุกท่านที่ช่วยเตือนเข้ามา แต่ก็อยากให้มีเหตุมีผล อีกอย่างผลงานนี้เป็นสมบัติของ ร.ร.อัสสัมชัญ เท่านั้น ไม่ใช่สมบัติชาติ กรมศิลป์ไม่มีสิทธิจะมาขึ้นทะเบียน ใครที่แย้งควรเปิดข้อกฎหมายดูสักนิด"

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผู้นี้เผยถึงอาคารใหม่อีกว่าเป็นอาคารอเนกประสงค์สูง 12 ชั้น มีทั้งห้องประชุมขนาดใหญ่ 1,500 ที่นั่ง และห้องประชุมเล็กขนาด 500 ที่นั่ง รวมถึงสถานออกกำลังกายขนาดใหญ่

"รูปปั้นนี้ตั้งใจว่าจะติดอยู่ในห้องประชุมเล็กบนชั้นที่ 9 เป็นห้องที่มีความสูงประมาณ 11 เมตรเท่าๆ กับอาคารหอเก่า หรือไม่ก็อาจไปติดไว้ที่ห้องประชุมใหญ่ที่มีความสูง 9 เมตรครึ่ง เพราะรูปปั้นสูงประมาณ 5 เมตร แต่เนื่องจากที่นี่จะมีโรงยิมด้วยเลยต้องดูความเหมาะสมอีกทีว่าจะไว้ห้องไหน"

ด้านผู้รับเหมาการรื้อถอนลำดับที่สอง ได้แก่ มานพ อมรวุฒิโรจน์ นายช่างศิลปกรรม 6 สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร เผยว่า ตนทำงานนี้ในเวลานอกราชการ กรมศิลปากรไม่เกี่ยวข้องด้วย และอธิบายกรรมวิธีการถอนถอนรูปปั้นในห้วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้ลูกจ้างประจำของกรมศิลปากรมาเป็นช่างนอกเวลาราชการด้วย

"แน่นอนการรื้อถอนต้องมีชำรุดบ้าง ซึ่งผมได้ใช้วิธีทำพิมพ์ด้วยยาง เทคนิคค่อนข้างยาก จำเป็นต้องตัดบางส่วนที่ยื่นออกมา เช่น แขนสองข้าง ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ มีคนเสนอว่าน่าจะยกลงมาทั้งแผ่น แต่ผมคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นจะเสี่ยงต่อการแตกหักมากกว่า โอกาสพลาดมีสูง ต่อคืนจะยากกว่ามาก แล้วการตัดของเราก็จะมีรอยตัดเพียงเส้นเดียวซอยตามแนวเก่าที่เขาขึ้นไป"

นายช่าง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นนำงานต้นแบบลงมาเป็นชิ้นๆ เพื่อรอประกอบใหม่ ถือเป็นอันเสร็จสิ้นงานในช่วงแรก ส่วนเหตุผลการทำพิมพ์ยางเพื่อป้องกันการชำรุด

"ถ้าส่วนไหนแตกหักก็มีพิมพ์ไว้หล่อสำรอง หล่อซ่อมจากของจริงไม่ได้หล่อทดแทน ซ่อมเสร็จแล้วพิมพ์ยางนี้จะทิ้งไปเลย ปัญหาคือที่ผ่านทางโรงเรียนทาสีทับไว้หนามาก หล่อมาก็ไม่คมชัดเท่ากับของเก่า รายละเอียดก็เหลือน้อย"

เมื่อถามว่ารับทราบความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ศิลปะของงานชิ้นดังกล่าวหรือไม่ นายมานพ ยอมรับว่า เบื้องต้นไม่ทราบ

"ผมไม่ทราบมาก่อน แต่พอไปเห็นงานก็รู้ว่าต้องเป็นฝีมือระดับปรมาจารย์ ระดับเดียวกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทีเดียว ทีนี้ผมว่าวิธีการที่ผมเลือกทำนี้ดีที่สุดแล้วสำหรับการรื้ออาคาร อธิบดีท่านก็กำชับให้ระมัดระวังให้ดีแต่ไม่ติดข้องอะไร" นายช่างแห่งกรมศิลปากรกล่าวในที่สุด

เปิด พ.ร.บ.โบราณสถาน

อธิบดียันขึ้นทะเบียนแน่

ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 12 ระบุตอนหนึ่งว่า

...เมื่ออธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุใดที่มิได้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุนั้น...

หลังจากได้รับแจ้งข่าวจากนักศึกษา น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น อธิบดีกรมศิลปากร มอบหมายให้ นายชิน ประสงค์ ผอ.ส่วนประติมากรรม ไปร่วมดูแลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเตรียมให้ฝ่ายทะเบียน สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ประสานงานกับทางโรงเรียน เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนศิลปวัตถุดังกล่าวในเร็วๆ นี้

"ผมคุยกับคุณมานพแล้ว เขาบอกของเดิมเอาขึ้น 8 ชิ้น เวลานำลงก็ต้องลงตามนั้น คือ ตามกระบวนการไม่ผิดอะไร ไม่ต้องตกใจ แล้วผมมอบหมายให้ทางสำนักโบราณคดี แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบว่าจะขึ้นทะเบียนงานชิ้นนี้เป็นศิลปวัตถุ คือ ทางโรงเรียนยังเป็นเจ้าของดูแลเหมือนเดิม เพียงแต่ครั้งต่อไปจะทำอะไรกับงานนี้ต้องแจ้งมาที่กรมศิลป์ก่อน"

แม้นกระแสภายนอกจะยื่นข้อเสนอให้ทางโรงเรียนพิจารณาด้วยความปรารถนาดี และด้วยความตระหนักว่าประติมากรรมนูนสูงชุดสำคัญนี้เป็นสมบัติของโรงเรียนโดยสมบูรณ์ กระนั้นการถกเถียงเกี่ยวกับคุณค่าศิลปวัตถุไม่ได้ถูกจำกัดในบริบทความเป็นเจ้าของอย่างแน่แท้ หลายฝ่ายเดินหน้าหาข้อเท็จจริงในโรงเรียน ทว่าล่าสุดภายในรั้วอัสสัมชัญ บางรัก ปรากฏผู้บริหารสั่งห้ามอาจารย์คนอื่นๆ ให้สัมภาษณ์ และสั่งปิดประตูทางเข้าหอประชุมตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา เพื่อปิดบังภาพไม่งามของประติมากรรมที่ตนเป็นเจ้าของ

กระทั่งบรรดาอาจารย์และนักเรียนทั้งหลายยังเกิดความคับข้องใจ แต่ไม่มีใครสามารถแสดงความคิดเห็นได้

ถึงคราวโรงเรียนคาทอลิกแห่งนี้ จะระอุเกินอบอุ่นเสียแล้ว นับแต่วันที่รูปปั้นพระเยซูและนักบุญทั้งหลาย ถูกอัปเปหิมานอนแผ่หรา กลางพื้นห้องร่วมกับเศษวัสดุก่อสร้างอื่นๆ

บทกลอนคำสอนวรรคแรกของเจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ ที่ว่า ...จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้... คงแผ่วไปแล้วสำหรับใครบางคน


Krungthep Turakij Newspaper